285050096_381658563989463_6762768082335648749_n.jpg
 
นายกตวงรัตน์ขับเคลื่อนอุทยานธรณีลำปาง นำเสนอข้อมูลในสภากาแฟจังหวัดลำปาง
     วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.30 น. นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายก อบจ.ลำปาง นำเสนอข้อมูลการจัดตั้งอุทยานธรณีลำปางหรือ Lampang Geopark ต่อที่ประชุมสภากาแฟจังหวัดลำปาง ครั้งที่ 1/2565 โดยนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีผู้บริหารส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และภาคประชาชนพบปะแลกเปลี่ยนข้อราชการ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของหน่วยงาน ณ หอประชุมจังหวัดลำปาง
     โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางมีความประสงค์ขอจัดตั้งอุทยานธรณีลำปางหรือ Lampang Geopark ขึ้น เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่าจังหวัดลำปางมีแหล่งทรัพยากรทางธรณีที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ สมควรแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีที่คงไว้ซึ่งมรดกเชิงธรณี มรดกเชิงโบราณคดี และมรดกเชิงทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งมีแหล่งทรัพยากรธรณีที่มีชื่อเสียงระดับภาคพื้นเอเชียและระดับโลก
     จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งธรณีวิทยาจังหวัดลำปาง พบว่าจังหวัดลำปางมีแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาที่โดดเด่น และทรงคุณค่ามากมายเหมาะแก่การอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีและส่งเสริมให้เป็นแหล่งองค์ความรู้มรดกทางธรณี พัฒนาให้อนุชนรุ่นหลัง ประชาชน และนักท่องเที่ยวในประเทศไทยและต่างประเทศได้รับรู้
     โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบมีเป้าหมายมีรูปแบบที่ชัดเจน ใช้การท่องเที่ยวเชิงธรณีเป็นแนวทางการส่งเสริมและพัฒนา วัตถุประสงค์เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ท้องถิ่น ให้เกิดความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือในการท่องเที่ยวของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกิดการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่
     อบจ.ลำปาง จึงสนใจโครงการอุทยานธรณี หรือการนำองค์ความรู้ทางธรณีวิทยามาเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กรมทรัพยากรธรณี เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงในการจัดตั้งอุทยานธรณีลำปาง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นและส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว จ.ลำปาง
#อุทยานธรณีคืออะไร?
      อุทยานธรณีเป็นโปรแกรมของยูเนสโก (UNESCO) ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่การพัฒนาการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีการเชื่อมโยงมรดกทางธรณีวิทยาเข้ากับมรดกทางธรรมชาติวิทยา และมรดกทางวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ประชาชน และหน่วยงานในท้องถิ่นแบบล่างสู่บน หรือ bottom up approach ท้องถิ่นสามารถนำหรือแสวงหาพื้นที่ที่มีแหล่งธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยา มาเชื่อมโยงเข้ากับธรรมชาติ วัฒนธรรม และประเพณี วัฒนธรรม มรดกที่จับต้องไม่ได้ อื่นๆ และบริหารจัดการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันแบบองค์รวม คือ มีการคุ้มครองหรือการอนุรักษ์ การให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
     การดำเนินการตามโปรแกรมอุทยานธรณีส่วนใหญ่ได้ประโยชน์สำหรับการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว เป็นต้นว่า การสร้างหรือพัฒนาอาชีพและแรงงาน #การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อุทยานธรณี มี 3 ระดับ คือระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก
#อุทยานธรณีเหมือนหรือต่างกับอุทยานแห่งชาติอย่างไร?
      อุทยานแห่งชาติ มุ่งเน้นลักษณะของพื้นที่หรือที่ดินที่น่าสนใจเป็นรูปธรรมจับต้องได้ มีไว้ให้ศึกษาหรือพักผ่อนหย่อนใจเป็นสำคัญ มุ่งสงวนหรืออนุรักษ์ให้คงสภาพเดิม และมีหน่วยงานราชการเป็นผู้ดูแลรักษาอำนวยความสะดวก ขณะที่ อุทยานธรณี มีความหมายที่กว้างกว่ามาก เป็นพื้นที่กว้างขวางเน้นความเป็นแหล่งธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาอยู่ในนั้น และต้องมีการเชื่อมโยงกับทรัพยากรด้านอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ธรรมชาติวิทยา วัฒนธรรม วิถีชุมชน ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ พื้นที่อุทยานธรณีต้องได้รับการบริหารจัดการแบบองค์รวม ซึ่งประกอบด้วย การคุ้มครองหรือการอนุรักษ์ การให้การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ หน่วยงานในท้องถิ่นและภูมิภาค (เช่น เจ้าของที่ดิน กลุ่มชุมชน ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ และองค์กรท้องถิ่น) อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งๆ หรือบางส่วนของอุทยานแห่งชาติ จึงสามารถเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานธรณี
 
285193314_381658440656142_4369889507194038907_n.jpg  284959187_381658527322800_2337286047433780066_n.jpg  284998192_381658657322787_5221813376380049487_n.jpg
285090313_381659383989381_1876931560813970766_n.jpg  285129967_381658713989448_7955184214322706905_n.jpg  285373611_381658457322807_250885911776911122_n.jpg
ภาพ : สุทิตย์ มงคลคลี
ข่าว : เตือนใจ ภักดีวงศ์
 
สามารถติดตามข่าวสารและข่าวย้อนหลังของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง

ผ่านช่องทาง 

Website : www.lp-pao.go.th

Facebook : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.ลำปาง

Facebook : องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง

Youtube Channel