ประวัติความเป็นมา

pao logo

 

       องค์การบริหารส่วนจังหวัดเกิดขึ้นครั้ง แรกเมื่อปีพ.ศ.2476 เรียกว่า “สภาจังหวัด” มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการจังหวัด คือผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ในปี พ.ศ.2495 ได้มีการกำหนดให้สภาจังหวัดมีฐานะเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด และได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนา จนกลายมาเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดมีฐานะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดจังหวัดเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายอำเภอเป็นหัวหน้าประจำอำเภอ โดยมีสภาจังหวัดเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาจังหวัดซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติจังหวัด

        จนกระทั่งปี พ.ศ.2537 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 เป็นต้นไป จึงทำให้มีการปรับปรุงและประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 โดยได้บัญญัติให้เขตของจังหวัดเป็นเขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัด พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มา จากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดโดยตรง ผลจาก พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 

อาณาเขตและที่ตั้ง

      องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง จังหวัดลำปางตั้งอยู่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดินสายพหลโยธินประมาณ 602 กิโลเมตร ตามทางรถไฟประมาณ 625 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,533,961 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,833,726 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเพชรบูรณ์ อาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้


ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย
ทิศใต้  ติดต่อกับ จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดลำพูน

ระยะทางระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดที่มีเขตติดต่อ

จังหวัดลำปาง - จังหวัดลำพูน ระยะทาง 71 กิโลเมตร
จังหวัดลำปาง - จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 92 กิโลเมตร
จังหวัดลำปาง - จังหวัดพะเยา ระยะทาง 131 กิโลเมตร
จังหวัดลำปาง - จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 225 กิโลเมตร
จังหวัดลำปาง - จังหวัดตาก ระยะทาง 182 กิโลเมตร
จังหวัดลำปาง - จังหวัดแพร่ ระยะทาง 109 กิโลเมตร
จังหวัดลำปาง - จังหวัดสุโขทัย ระยะทาง 207 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ
       จังหวัดลำปางอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 268.80 เมตร พื้นที่ของจังหวัดลำปางเป็นรูปยาวรี ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสูงทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือไปทางทิศใต้ของจังหวัด และมีที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำเป็นบางส่วนในบริเวณตอนกลางของจังหวัด

ลักษณะทางกายภาพ
       ทางด้านธรณีสัณฐานวิทยาจังหวัดลำปางมีพื้นที่เป็นที่ราบล้อมด้วยภูเขา มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดิน หรือเรียกว่า “อ่างลำปาง” เป็นอ่างที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ แบ่งลักษณะภูมิประเทศออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ


บริเวณตอนบน
ของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบสูง ภูเขา และเป็นป่าค่อนข้างทึบ อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้มีค่า
บริเวณตอนกลาง ของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบ และที่ราบลุ่มแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด
บริเวณตอนใต้ ของจังหวัดมีลักษณะเป็นป่าไม้รัง บางส่วนมีลักษณะเกือบเป็นทุ่งหญ้า

ลักษณะภูมิอากาศ
     จากลักษณะพื้นที่ของจังหวัดลำปางที่เป็นแอ่งคล้ายก้นกะทะ จึงทำให้อากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด และหนาวจัดในฤดูหนาว อุณหภูมิสูงสุด 42.60 องศาเซลเซียส (เดือนเมษายน 2547) อุณหภูมิต่ำสุด 3.7 องศาเซลเซียส (เดือนธันวาคม 2542) ปริมาณน้ำฝน 82.48 มิลลิเมตรต่อปีแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ


ฤดูร้อน เริ่มประมาณต้นเดือนมีนาคม - เดือนพฤษาคม
ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม – เดือนพฤศจิกายน
ฤดูหนาว เริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์

เขตการปกครองและจำนวนประชากร
      จังหวัดลำปางแบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ  ดังนี้


อำเภอเมืองลำปาง (1,156.623 ตร.กม.)
อำเภอเกาะคา (551.152 ตร.กม.)
อำเภอแจ้ห่ม (1,349.121 ตร.กม.)
อำเภอเถิน (1,634.763 ตร.กม.)
อำเภอห้างฉัตร (684.757 ตร.กม.)
อำเภอแม่ทะ (914.650 ตร.กม.)
อำเภองาว (1,815.313 ตร.กม.)
อำเภอวังเหนือ (1,034.323 ตร.กม.)
อำเภอสบปราบ (502.346 ตร.กม.)
อำเภอแม่พริก (538.921 ตร.กม.)
อำเภอเสริมงาม (631.727 ตร.กม.)
อำเภอแม่เมาะ (855.044 ตร.กม.)
อำเภอเมืองปาน (865.103 ตร.กม)